การดำน้ำแบบไม่ลงไปลึกมาก เรียกว่าการดำน้ำแบบผิวน้ำ หรือ Snorkeling การดำน้ำชนิดนี้เหมาะสำหรับการชมปะการังน้ำตื้น ใช้อุปกรณ์ในการดำน้ำน้อยใช้แค่ 4 ชิ้นเท่านั้นเอง คือ หน้ากากดำน้ำ ท่อหายใจ ชูชีพ ตีนกบ อุปกรณ์ดำน้ำเหล่านี้มีราคาไม่แพงอีกทั้งยังหาซื้อง่าย นอกจากนี้คนที่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือยังว่ายไม่แข็งก็สามารถดำน้ำชมปะการังได้อย่างสนุกสนาน เพราะมีเสื้อชูชีพเป็นตัวช่วย
เทคนิคและวิธีการ ดำน้ำแบบ Snorkeling
- เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม
- ฝึกการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ให้แม่นยำ
- ฝึกเทคนิคการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
- ฝึกระวังอันตรายต่างๆ
เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม
หน้ากาก
ต้องพอดีกับใบหน้า ต้องไม่มีรอยชำรุดเสียหาย ควรปรับสายรัดให้พอดีกับใบหน้าท่อหายใจ หรือ Snorkel ท่อหายใจควรใช้แบบมีวาล์ว เนื่องจากเอาน้ำออกได้ง่าย อีกทั้งควรปรับตำแหน่งของท่อกับหน้ากากให้พอเหมาะ ปัญหาอันพบเจอบ่อย คือคนที่ดำน้ำแล้วบอกไม่สนุกเนื่องจากน้ำลงเข้าท่อและเกิดอาการสำลักน้ำตลอดเวลา ถ้าแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ จะช่วยเพิ่มความสนุกกับการดำน้ำมากขึ้นเป็น 10 เท่าเลยทีเดียว
เสื้อชูชีพ
ต้องรัดสายทุกเส้นให้ถูกตำแหน่งและต้องกระชับกับลำตัว โดยเฉพาะสายรัดเป้า คนส่วนมากมักละเลยตรงจุดนี้ ปัญหาเมื่อไม่รัดเป้าจะเกิดขึ้นเมื่อเวลาลงน้ำ ชูชีพจะขึ้นมาดันท่อหายใจ ทำให้ท่อไม่อยู่ในจุดที่มันควรจะอยู่และเกิดการดำน้ำไม่สนุก รวมทั้งชูชีพควรมีนกหวีดติดไว้เผื่อใช้ขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย
ตีนกบ หรือ ฟิน
จริงๆ อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ค่อยมีความจำเป็นสักเท่าไหร่ ประโยชน์ของมันคือ ทำให้การว่ายไปข้างหน้าเร็วขึ้นกว่าเดิมประมาณ 5-10 เท่า ทำให้เกิดความคล่องแคล่ว ส่วนข้อเสียคือหากออกแรงตีตีนกบมากเกินไปจะทำให้เกิดตะคริวได้ หากใส่แล้วใช้ไม่ถูกวิธีแทนที่จะว่ายได้เร็วขึ้น กลับกลายมาเป็นว่ายอยู่กับที่แทน การตีตีนกบที่ถูกต้องคือ ขาต้องเหยียดตรงงอข้อพับเข่าได้เพียงเล็กน้อย ส่วนปัญหาข้อสำคัญของผู้ที่ยังไม่มีทักษะในการดำน้ำ แล้วใส่ตีนกบคือจะชอบยืนบนปะการังเนื่องจากทำให้ไม่เจ็บขาเป็นเหตุให้ปะการังพัง ข้อนี้เป็นข้อห้ามอย่างแรงที่ห้ามทำโดยเด็ดขาด รวมทั้งบางครั้งคนที่ยังไม่มีความชำนาญพอว่ายตีตีนกบไปโดนปะการังหักเสียหายโดยไม่ตั้งใจ ขอให้ระมัดระวังไว้ด้วยจะดีมาก กว่าที่มันจะโตขึ้นมาได้ต้องใช้เวลานานมาก สมบัติของท้องทะเลเราทุกคนต้องช่วยกันรักษาคงอยู่ต่อไป